ส่วนประกอบของคอมพิวเตอร์

คอมพิวเตอร์เป็นอุปกรณ์ที่เกิดจากการนำชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์หลากหลายอย่างมาประกอบกัน จนกระทั่งกลายเป็นคอมพิวเตอร์ ซึ่งหากพูดถึงชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เหล่านั้นแล้วละก็ คงไม่สามารถกล่าวถึงได้หมดอย่างแน่นอน แต่ทว่า สำหรับการรู้จักถึง “ส่วนประกอบของคอมพิวเตอร์หลัก” ย่อมเป็นไปได้ และก็เป็นเรื่องที่ควรรู้เป็นอย่างยิ่งสำหรับคนในยุคปัจจุบัน

โดยปกติแล้ว หากกล่าวถึงส่วนประกอบของคอมพิวเตอร์ทั้งหมด คงอาจจะต้องกล่าวเกี่ยวกับซอฟต์แวร์ (Software) ที่ทำให้คอมพิวเตอร์สามารถทำงานได้ด้วย แต่ทว่า สำหรับหัวข้อนี้ จะนำเสนอเฉพาะที่เกี่ยวกับฮาร์ดแวร์ (Hardware) ก่อน แล้วจะนำเสนอเกี่ยวกับซอฟต์แวร์อีกครั้งในโอกาสต่อไป

ส่วนประกอบของคอมพิวเตอร์ภายใน

ซีพียู
ซีพียู (CPU)

1. หน่วยประมวลผลกลาง (Central Processer Unit ชื่อย่อ CPU) เป็นส่วนประกอบของคอมพิวเตอร์ที่ถือว่าเป็นสำคัญที่สุดเลยก็ว่าได้ CPU คือ วงจรอิเล็กทรอนิกส์ที่ทำหน้าที่เป็นหน่วยประมวลผลคำสั่งเครื่องที่มาจากซอฟต์แวร์ หรือกล่าวให้เข้าใจอย่างง่ายก็คือ หากเราอยากให้คอมพิวเตอร์ทำอะไร เราต้องทำการสั่ง และทุก ๆ คำสั่งจะต้องสั่งผ่านเข้ามาที่ CPU เพื่อทำการประมวลผลคำสั่งนั้น ๆ ก่อน ฉะนั้น CPU จึงเปรียบเสมือนกับสมองที่ทำหน้าที่ในการคิดนั้นเอง

เมนบอร์ด
เมนบอร์ด (Main Board)

2. เมนบอร์ด (Main Board) แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ที่ทำหน้าที่เสมือนตัวกลางที่เอาไว้ให้ส่วนประกอบคอมพิวเตอร์อื่น ๆ เชื่อมต่อถึงกันได้ หรือกล่าวอย่างง่ายเลยก็คือ ทุก ๆ ส่วนประกอบของคอมพิวเตอร์จะต้องเชื่อมต่อกับตัวเมนบอร์ดทั้งสิ้น อาทิ CPU, RAM, Monitor, Mouse, Keyboard และอื่น ๆ ทุกอย่างจะต้องเชื่อมต่อกับเมนบอร์ดผ่านช่องใดช่องทางหนึ่งทั้งสิ้น

3. หน่วยความจำ (Memory Unit) ส่วนประกอบของคอมพิวเตอร์ที่มีหน้าที่เก็บคำสั่งและข้อมูล โดยหน่วยความจำของคอมพิวเตอร์ในปัจจุบัน สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ ด้วยกันดังนี้

แรม
แรม (RAM)
  • หน่วยความจำชั่วคราว (Random Access Memory ชื่อย่อ RAM) เป็นหน่วยความจำที่จะใช้ในขณะที่คอมพิวเตอร์ทำงานอยู่เท่านั้น หรือตอนที่เปิดเครื่องคอมพิวเตอร์ใช้งานอยู่เอง และเมื่อปิดคอมพิวเตอร์ ชุดคำสั่งและข้อมูลที่อยู่ใน RAM ก็จะหายไป

    SSD
    SSD (หน่วยความจำถาวรชนิดหนึ่ง)
  • หน่วยความจำถาวร (Read Only Memory ชื่อย่อ ROM) เป็นหน่วยความจำที่มีลักษณะตรงข้ามกับหน่วยความจำชั่วคราว กล่าวคือ ROM จะเก็บคำสั่งและข้อมูลเอาไว้ตลอดไปจนกว่า ROM นั้นจะเสียหาย โดยปกติ ROM จะไม่นิยมใช้เรียกส่วนประกอบของคอมพิวเตอร์เป็นหน่วยความจำถาวรของคอมพิวเตอร์มากนัก แต่หลาย ๆ คนอาจเคยได้ชื่อ Hard Disk และ SSD (Solid State Drive) เหล่านี้ก็คือ ROM นั้นเอง และเป็นชื่อที่นิยมใช้เรียกหน่วยความจำถาวรของคอมพิวเตอร์แทนการเรียกว่า ROM ส่วน ROM มักถูกใช้เรียกหน่วยความถาวรของอุปกรณ์อย่างสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตเสียเป็นส่วนใหญ่
พาวเวอร์ซัพพลาย
พาวเวอร์ซัพพลาย (Power Supply)

4. พาวเวอร์ซัพพลาย (Power Supply) ส่วนประกอบของคอมพิวเตอร์ที่ช่วยในการจ่ายไฟฟ้าให้กับคอมพิวเตอร์ เป็นอีกหนึ่งส่วนประกอบสำคัญที่ขาดไม่ได้ เนื่องจากคอมพิวเตอร์นั้นทำงานด้วยกระแสไฟฟ้า ฉะนั้น ไฟฟ้าจึงเป็นส่วนสำคัญที่ต้องมี

ที่ต้องใช้ Power Supply นั้นก็เพราะว่า ไฟฟ้าที่ส่งมาตามสายไฟนั้น เป็นไฟฟ้ากระแสสลับ แต่ทว่า คอมพิวเตอร์นั้นใช้ไฟฟ้ากระแสตรง และส่วนประกอบของคอมพิวเตอร์ที่ทำหน้าที่ในการแปลงไฟฟ้ากระแสสลับให้เป็นไฟฟ้ากระแสตรง เพื่อให้คอมพิวเตอร์สามารถนำไฟฟ้าไปใช้ได้ก็คือ Power Supply นั้นเอง ฉะนั้น Power Supply จึงเป็นส่วนประกอบสำคัญอย่างหนึ่งของคอมพิวเตอร์

GPU
GPU หรือ Display Card

5. การ์ดแสดงผล (Display Card) ทั่วไปของบ้านเราเรียกในอีกชื่อว่า การ์ดจอ เป็นส่วนประกอบของคอมพิวเตอร์ที่มีหน้าที่ในการนำผลลัพธ์จากการทำงานของ CPU ที่ส่งผ่านมาทางหน่วยความจำชั่วคราว (RAM) มาคำนวณประมวลผล แล้วส่งสัญญาณมายังอุปกรณ์แสดงภาพ อาทิ จอแสดงภาพ (Monitor) และโปรเจคเตอร์ (Projector) เป็นต้น

ในคอมพิวเตอร์ยุคแรก ๆ จำเป็นจะต้องใช้การ์ดแสดงผลเสมอ แต่ในช่วงต่อ ๆ มา ได้มีการพัฒนา CPU ให้ช่วยทำหน้าที่แทนการ์ดแสดงผลได้ จึงไม่จำเป็นต้องใช้การ์ดแสดงผลอีกต่อไป แต่จะต้องมีเมนบอร์ดที่สามารถเชื่อมต่อไปยังอุปกรณ์แสดงภาพได้

*** กรณีที่กล่าวมาในข้างต้น เป็นกรณีที่ใช้การคำนวณประมวลผลเพื่อแสดงภาพที่ไม่ต้องใช้การคำนวณประมวลผลมักนัก แต่หากต้องการใช้การคำนวณประมวลผลที่มาก เพื่อให้สามารถแสดงภาพออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ ภาพเคลื่อนไหว 3 มิติที่มีรายละเอียดของภาพเป็นจำนวนมาก ก็จะต้องใช้การ์ดแสดงผลที่พัฒนาขึ้นมาโดยเฉพาะ ซึ่งเรียกว่า หน่วยประมวลผลกราฟิกส์ (Graphics Processing Unit ชื่อย่อ GPU)

ส่วนประกอบของคอมพิวเตอร์ภายนอก

Monitor
จอแสดงภาพ (Monitor)

1. จอแสดงภาพ (Monitor) ส่วนประกอบของคอมพิวเตอร์ที่ช่วยให้มนุษย์สามารถรับรู้ได้ทางดวงตาว่า เราได้สั่งให้คอมพิวเตอร์ทำอะไรและได้ผลลัพธ์ออกมาอย่างไร หากขาดซึ่งจอแสดงภาพแล้ว เราก็ไม่สามารถสามารถรู้ได้เลยว่า คำสั่งที่เราสั่งให้คอมพิวเตอร์ทำไปนั้น มันได้ผลลัพธ์อย่างไรบ้าง และสำหรับโปรเจคเตอร์ (Projector) ก็คือ เครื่องสำหรับใช้เพื่อแสดงภาพเช่นเดียวกับจอแสดงภาพเช่นเดียวกัน ลักษณะการทำงานนั้นไม่ต่างกันมาก แต่รูปลักษณ์ภายนอกจะแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง

คีย์บอร์ด
คีย์บอร์ด (Keyboard)

2. คีย์บอร์ด (Keyboard) ส่วนประกอบของคอมพิวเตอร์ที่ไว้ใช้สำหรับป้อนคำสั่งให้กับคอมพิวเตอร์ นี้คืออุปกรณ์ที่ขาดไม่ได้หากเราต้องการป้อนคำสั่งให้คอมพิวเตอร์ทำงาน เพราะแรกเริ่มเดิมที เราไม่สามารถสั่งให้คอมพิวเตอร์ทำงานได้ด้วยเสียง และถึงแม้ว่าปัจจุบัน จะมีการพัฒนาเครื่องมือที่ทำให้มนุษย์สั่งคอมพิวเตอร์ได้ด้วยเสียงแล้วก็ตามที แต่ทว่า การป้อนคำสั่งคอมพิวเตอร์ให้ทำงานด้วยคีย์บอร์ด ก็ยังคงมีประสิทธิภาพมากกว่าอยู่ดี

เมาส์
เมาส์ (Mouse)

3. เมาส์ (Mouse) อุปกรณ์ที่ช่วยทำให้สามารถใช้คอมพิวเตอร์ได้สะดวกมากยิ่งขึ้น กล่าวคือ โดยปกติ เราจะต้องสั่งการทำงานทุกอย่างผ่านทางคีย์บอร์ด เช่น ให้ไปจุดนั้น ไปที่จุดนี้ ซึ่งแต่ละจุดที่เราต้องการสั่งคอมพิวเตอร์ให้ไปยังจุดดังกล่าวนั้น ทำได้ยากและบางจุดอยู่ห่างกันมาก แต่เมื่อมีเมาส์ เราสามารถทำการเลื่อนเมาส์ไปยังจุดที่เราต้องการได้เลย ซึ่งทำให้สามารถใช้คอมพิวเตอร์ได้สะดวกมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม และในปัจจุบัน มันถูกนำมาประยุกต์ใช้จนทำให้คอมพิวเตอร์สามารถทำงานได้อย่างหลากหลายยิ่งขึ้น

ส่วนประกอบของคอมพิวเตอร์ชนิดอื่น ๆ

ที่ได้กล่าวมาในข้างต้นทั้งหมด เป็นส่วนประกอบของคอมพิวเตอร์ที่เป็นส่วนประกอบหลัก ที่ทำให้เราสามารถนำคอมพิวเตอร์มาเพื่อใช้ในคำนวณประมวลผลสิ่งต่าง ๆ ได้ แต่ทว่า ในปัจจุบัน ได้มีการนำคอมพิวเตอร์มาประยุกต์ใช้กันอย่างหลากหลาย จนทำให้เกิดอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์ แล้วทำให้สามารถใช้คอมพิวเตอร์ทำสิ่งต่าง ๆ ได้อีกมากมายและสะดวกมากยิ่งขึ้น อาทิ การ์ดเสียง (Sound Card), การ์ดแลน (LAN Card), Floppy Disk Drive และซีดีรอมไดรว์ (CD-ROM Drive) เป็นต้น

แต่ถึงอย่างไรก็ตาม อุปกรณ์พวกนี้ ไม่ได้เป็นส่วนประกอบที่ทำให้คอมพิวเตอร์สามารถทำงานได้หรือไม่ได้ อาทิ Floppy Disk Drive ที่เอาไว้ใช้นำคำสั่งเข้าสู่คอมพิวเตอร์ CD-ROM Drive ก็เช่นเดียวกัน

สำหรับอุปกรณ์อื่น ๆ อาทิ Printer, Scanner, Fax และอื่น ๆ ในบทความนี้ เราไม่ถือว่า เป็นส่วนประกอบของคอมพิวเตอร์โดยตรง แต่เราถือว่า เป็นอุปกรณ์ต่อพ่วงมากกว่า เพราะไม่ใช่ส่วนประกอบที่ทำให้คอมพิวเตอร์ทำงานได้หรือไม่ได้ ต่างจากส่วนประกอบของคอมพิวเตอร์ดังที่ได้กล่าวมา ซึ่งถ้าขาดไปแล้ว ย่อมทำให้คอมพิวเตอร์ไม่สามารถทำงานได้

Korlidun

ชีวิต ก็เปรียบเสมือนการเดินทาง สิ่งที่น่าดีใจคือไม่ต้องเริ่มต้นใหม่ สิ่งที่น่าเสียคือย้อนกลับไปไม่ได้ youtube facebook twitter instagram rss

Post a Comment

Previous Post Next Post